ผอ.ร.ร. แจงแล้ว ครูไม่ได้กดดันเด็ก คาดสื่อสารผิดพลาด

จากกรณีของ ด.ญ ปลอบขวัญ ระสุโสะ หรือ น้องโบนัส ที่เลือกจบชีวิตตัวเอง เพราะน้อยใจชีวิตและถูกกดดันจากหลายๆเรื่อง ชีวิตของน้องโบนัสนั้นถูกพ่อกับแม่ทิ้งไปตั้งแต่เด็กๆ น้องอยู่กับแม่เลี้ยงที่ดูแลมาตั้งแต่เด็กที่ อ.สะเดา จ.สงขลา จนกระทั่งแม่เลี้ยงพิการ น้องถูกส่งไปอยู่กับน้าที่ จ.พัทลุง แต่ถูกน้าลวนลามทำร้ายร่างกาย และถูกไล่ออกจากบ้าน น้องไปขออาศัยอยู่กับเพื่อน มีน้าของเพื่อนคอยให้ความช่วยเหลือ หลังจากปิดเทอมน้องได้กลับไปอยู่กับแม่แท้ๆตัวเองที่สงขลา ซึ่งแม่ติดการพนันงอมแงม น้องเดือดร้อนไม่มีเงินในการเข้าเรียนต่อ น้องออกตามหาพ่อกว่าสองเดือน กระทั่งสามารถติดต่อพ่อได้ น้องขอให้พ่อช่วยเรื่องการเรียน แต่พ่อน้องเงียบหายไม่ติดต่อกลับ น้องทักแชทไป อ่านแต่ไม่ตอบ โทรไปหาก็บ่ายเบี่ยง จนน้องบอกพ่อว่า อย่างน้อยก็ช่วยชดเชยที่พ่อไม่เคยเลี้ยงดูมาเลย แต่พ่อก็ยังเมิน ไม่ใส่ใจ น้องบอกแม่ว่า ห้หยุดเล่นการพนัน ให้คิดถึงอนาคตของลูกบ้าง

และที่เป็นประเด็นที่น่าจับตามองนั้น คือครูฝ่ายปกครองโรงเรียนสตรีชื่อดังแห่งหนึ่งใน จ.พัทลุง ที่น้องเรียนอยู่โทรมาบอกว่าน้องไม่มีเงินไม่มีผู้ปกครอง ให้เลิกความคิดที่จะกลับมาหาเพื่อน มาเรียนที่นี่ สรุปคือ ไล่น้องออก

(อ่านข่าว : สพฐ.สั่งสอบ ครูกดดันน้องโบนัส) 

คืบหน้าล่าสุดเรื่องนี้ ทางด้าน นางมาลี แก้วละเอียด ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีพัทลุง เผยว่า โรงเรียนรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ระบบการดูแลนักเรียนทางโรงเรียนก็ทำดีที่สุดแล้ว โดยที่ นายตุลยวัต เขียวจีน รอง ผอ.กลุ่มบริหารกิจการนักเรียน และครูที่ปรึกษาได้เตรียมความพร้อมในการดูแลเด็กคนดังกล่าวแล้วเช่นกัน หลังจากที่ได้พูดคุยกับเด็กคนดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา นักเรียนรายนี้ก็ไม่ได้มาโรงเรียน หลังจากที่ติดต่อสื่อสารกับเด็กก็พบว่าเด็กไม่อยู่ในพื้นที่ จ.พัทลุง โดยไปอยู่กับมารดาที่ อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ทราบว่าเด็กไม่สามารถมาเรียนในโรงเรียนนี้ได้ เนื่องจากไม่มีที่พักและไม่มีผู้ดูแล ครูผู้ดูแลเด็กจึงนำเรื่องนี้แจ้งให้ครูที่ปรึกษา ซึ่งเป็นหัวหน้างานการดูแลเด็กนักเรียนได้รับทราบเพื่อเร่งแก้ปัญหาให้นักเรียนคนดังกล่าว

ทางด้านครูที่ปรึกษา จึงได้ติดต่อสื่อสารไปยังเด็กคนดังกล่าว โดยได้เสนอแนวทางเลือกไป 2 ทาง ประกอบด้วย

1. พอที่จะสามารถศึกษาต่อในโรงเรียนใกล้บ้านได้หรือไม่ เพราะสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย

2. หากจะมาเรียนที่ จ.พัทลุง จะต้องไปพักอาศัยในบ้านพักเด็กโคกชะงาย อ.เมืองพัทลุง ซึ่งมีรถรับส่งไป-กลับ และมีอาหารกินฟรี แต่ผู้เป็นแม่จะต้องมายินยอมในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม ก็ทราบว่าเด็กเสียชีวิตเสียแล้ว ซึ่งทางคณะผู้บริหาร คณะครู ก็ได้เข้าร่วมในงานศพดังกล่าว และมอบเงินสวัสดิการให้ครอบครัวจำนวนหนึ่ง

ในส่วนของการดูแลเด็กนั้น ครูที่ปรึกษาถือว่าเป็นผู้ที่รู้ข้อมูลของนักเรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุด และร่วมกับคณะครูในการช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหามาโดยตลอด ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นเรามาสามารถยืนยันได้ว่าครูได้พูดกับนักเรียนไปอย่างไรบ้าง แต่เรื่องนี้ตนยืนยันได้ว่าทางโรงเรียนได้เตรียมให้ความช่วยเหลือไว้ทุกๆ ด้านแล้ว เพียงให้ผู้เป็นแม่มาเซ็นหนังสือรับรองยินยอมให้เด็กไปพักอาศัยอยู่ในบ้านพักเด็กโคกชะงายเท่านั้น

ซึ่งทางโรงเรียนก็ไม่ทราบว่าครอบครัวของเด็กเป็นอย่างไร เพราะเด็กพักอาศัยอยู่นอกพื้นที่ จ.พัทลุง และการที่เด็กนำเรื่องไปพูดคุยกับเพื่อนนั้น อาจจะเป็นการแปลเจตนาของครูที่ผิดพลาดไปก็ได้ ในส่วนที่มีข่าวในโซเชียลระบุว่าเด็กคนนี้ไม่ได้รับทุนการศึกษานั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากเขาได้รับทุนมาทุกๆ ปี

นางมาลี กล่าวอีกว่า ไม่มีครูคนใดที่ไม่มีความปรารถนาดีต่อนักเรียน การที่พูดกันว่าไม่มีเงินแล้วมาเรียนในโรงเรียนนี้ไม่ได้ ไม่เป็นความจริง และเป็นไปไม่ได้ ทางโรงเรียนไม่ได้เร่งเก็บค่าบำรุงการศึกษา จะแจ้งให้มาชำระค่าบำรุงการศึกษาในวันไหนก็จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้า นักเรียนคนไหนจะขอลดค่าบำรุงการศึกษา หรือจะขอยกเว้นการจ่ายค่าบำรุงการศึกษาก็ขอให้ยื่นคำร้องได้ โดยในแต่และเทอมจะมีนักเรียนได้รับการยกเว้นการจ่ายค่าบำรุงฯ เกือบ 100 คน เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการแปลเจตนาของเด็กต่อครูผิดพลาดไปหรือไม่เราก็ไม่รู้ ขณะนี้ทางโรงเรียนได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกันทั้ง 2 ฝ่าย

สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น โรงเรียนไม่ได้กดดันจนนำไปสู่การเสียชีวิตของเด็กแต่อย่างใด เรื่องที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นการสื่อสารที่ไม่เข้าใจตรงกันระหว่างครูกับนักเรียน ซึ่งเด็กอาจจะเข้าใจที่ผิดพลาดตามประสาเด็ก ซึ่งอาจจะเป็นช่องว่างจนทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวนี้มา อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะครูในแต่ละครั้งตนจะเน้นย้ำให้ครูได้ระมัดระวังในการสื่อสารกับนักเรียน เนื่องจากนักเรียนแต่ละคนอาจจะมีปัญหาสลับซับซ้อนไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจะส่งผลให้การสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียนผิดพลาดขึ้นได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *